วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ต้นสาบเสือ

ต้นสาบเสือ


            สาบเสือ (อังกฤษBitter bush, Siam weed) เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่ายมากมีอยู่ทั่วไป จัดว่าเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดีที่เดียว เราใช้" ต้นสาบเสือ" เป็นดรรชีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้งต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า สาบเสือ ก็เพราะว่าดอกของมันไม่มีกลิ่นหอมเลยแต่กลับมีกลิ่นสาบ คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นคน

             ถิ่นกำเนิด

            สาบเสือ เป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอเมริกากลาง มีเขตแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของฟลอริดาจนถึงพื้นที่ตอนเหนือของอาร์เจนตินา ระบาดไปทั่วเขตร้อนของโลกทุกทวีป ยกเว้นการระบาดเข้าไปในทวีปออสเตรเลียซึ่งเพิ่งจะพบเพียงเล็กน้อยในช่วงเวลาภายใน 10 ปีที่ผ่านมา

  ลักษณะของสาบเสือ

  • ต้นสาบเสือ จัดเป็นวัชพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง โดยมีเขตแพร่กระตายตั้งแต่ทางตอนใต้ของรัฐฟลอริดาไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศอาร์เจนตินา และระบาดทั่วไปในเขตร้อนทั่วทุกทวีป (ยกเว้นการระบาดเข้าไปในทวีปออสเตรเลีย ซึ่งจะพบได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา) โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก เป็นพืชที่แตกกิ่งก้านสาขามากจนเหมือนทรงพุ่ม กิ่งด้านและลำต้นจะปกคลุมไปด้วยขนนุ่มอ่อน ๆ มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร
ต้นสาบเสือ
  • ใบสาบเสือ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นที่ข้อแบบตรงกันข้าม ใบมีสีเขียวอ่อน ลักษณะของใบคล้ายรูปรีทรงรูปสามเหลี่ยม ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง ใบเรียวสอบเข้าหากัน มีขอบใบหยัก ที่ใบเห็ดเส้นชัดเจน 3 เส้น ผิวใบทั้งสองด้านมีขนอ่อนปกคลุม ใบและก้านเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้ายกลิ่นสาบเสือ
ใบสาบเสือรูปสาบเสือ
  • ดอกสาบเสือ ออกเป็นช่อ มีสีขาวหรือสีห้าอมม่วง มีดอกย่อยประมาณ 10-35 ดอก โดยดอกวงนอกจะบานก่อนดอกวงใน ที่กลีบดอกหลอมรวมกันเป็นหลอด
ดอกสาบเสือ
  • ผลสาบเสือ เป็นผลขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายรูปห้าเหลี่ยมมีสีน้ำตาลหรือสีดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ที่ปลายผลมีขนสีขาว ช่วงพยุงให้ผลและเมล็ดสามารถปลิวตามลมได้
สาเหตุที่ได้ชื่อว่า “สาบเสือ” ก็เพราะว่าดอกของสมุนไพรชนิดนี้จะไม่มีกลิ่นหอมเลย แต่จะมีแต่กลิ่นสาบคล้ายสาบเสือ คนโบราณเวลาวิ่งหนีสัตว์ดุร้ายจะวิ่งเข้าดงสาบเสือเพื่อช่วยอำพรางให้ปลอดภัย เพราะสัตว์จะไม่ได้กลิ่นคน และยังมีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านของสรรพคุณทางยามากมาย โดยส่วนที่นำมาก็มีทั้งจากต้น ใบ ดอก ราก เป็นต้น

             สรรพคุณ

ต้น เป็นยาแก้ ปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ แก้บวม ดูดหนอง แล้วนอกจากนี้ ใบสาบเสือ ยังมีฤทธิ์ พิชิตปลวกได้อีกด้วย


ใบ ของสาบเสือมีสารสำคัญคือ กระอะนิสิก และฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไอโซซากูรานิติน และโอโดราติน นอกจากนี้ยังมีสารพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารยูพาทอล คูมาริน โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดหดตัว และนอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไปกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถห้ามเลือดได้ ใช้เป็นยารักษาแผลสด สมานแผล ถอนพิษแก้อักเสบ แก้พิษน้ำเหลือง แก้ตาฟาง แก้ตาแฉะ แก้ริดสีดวงทวารหนัก รักษาแผลเปื่อย ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซียใช้ยาต้มที่ใส่ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ดอก เป็นยาแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย บำรุงหัวใจ แก้ไข้

ทั้งต้น เป็นยาแก้บาดทะยัก และซอยที่แผล

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ต้นราชพฤกษ์


ราชพฤกษ์


           ราชพฤกษ์ หรือ คูน (อังกฤษGolden showerชื่อวิทยาศาสตร์Cassia fistula) เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย พม่า และศรีลังกา ดอกราชพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในที่โล่งแจ้ง สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัด ซึ่งอาจติดเชื้อราหรือโรคใบจุดได้
           เหตุผลเลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย

           1. เนื่องจากเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย

           2. มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ ๆ ในไทยและเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมปลูก

           3. ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยารักษาโรค อีกทั้งยังใช้ลำต้นเป็นเสาเรือนได้ เป็นต้น

           4. มีสีเหลืองอร่าม พุ่มงามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

           5. มีอายุยืนนาน และทนทาน
ลักษณะ
           ราชพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10-20 เมตร ดอกขึ้นเป็นช่อยาว 20-40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ผลยาว 30-62 เซนติเมตร และกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมา
           
·         ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน) ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่ และโค้งไปตามรูปใบ

                        

·         ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน) ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนานมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 อัน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

                                

·         ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ กันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร

 

สรรพคุณของราชพฤกษ์

1.    ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
2.    สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น,ใบ)
3.    สารสกัดจากเมล็ด มีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
4.    ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
5.    ราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
6.    ราชพฤกษ์ สรรพคุณทางยาฝักช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
7.    ช่วยแก้ไข้รูมาติก ด้วยการใช้ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
8.    ฝักอ่อน มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน)
9.    ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ฝัก)
10. เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก มีสรรพคุณช่วยถอนพิษทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้ (เมล็ด,ฝัก)
11. ต้นราชพฤกษ์ สรรพคุณของกระพี้ใช้แก้อาการปวดฟัน (กระพี้)
12. ในอินเดียมีการใช้ฝัก เปลือก ราก ดอก และใบมาทำเป็นยา ใช้เป็นยาแก้ไข้และหัวใจ แก้อาการหายใจขัด ช่วยถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แก้อาการซึมเศร้า หนักศีรษะ หนักตัว ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก (เปลือก,ราก,ดอก,ใบ,ฝัก)
13. สรรพคุณ ราชพฤกษ์ช่วยแก้โรครำมะนาด (กระพี้,แก่น)
14. ช่วยรักษาเด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ฝัก)
15. ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เนื้อในฝัก)
16. ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวกไม่มวนท้อง แก้อาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ และสตรีมีครรภ์ เพราะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวช่วยระบาย สำหรับวิธีการใช้ ให้ใช้ฝักแก่ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (หนักประมาณ 4 กรัม) และน้ำอีก 1 ถ้วยแก้วใส่หม้อต้ม แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือช่วงก่อนนอนเพียงครั้งเดียว (ฝักแก่,ดอก,เนื้อในฝัก,ราก,เมล็ด)
17. เมล็ด รสฝาดเมา สรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
18. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร และแผลเรื้อรัง (ดอก)
19. ช่วยรักษาโรคบิด (เมล็ด)
20. สรรพคุณของราชพฤกษ์ ฝักช่วยแก้อาการจุกเสียด (ฝัก)
21. ช่วยทำให้เกิดลมเบ่ง ด้วยการใช้เมล็ดฝนกับหญ้าฝรั่น น้ำดอกไม้เทศ และน้ำตาล แล้วนำมากิน (เมล็ด)
22. ฝักและใบ สรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ,ฝัก,เนื้อในฝัก)
23. ต้นคูณ สรรพคุณช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง (แก่น)
24. เปลือกฝักมีรสเฝื่อนเมา ช่วยขับรกที่ค้าง ทำให้แท้งลูก (เปลือกฝัก)
25. สารสกัดจากใบคูน มีฤทธิ์ช่วยต้านการเกิดพิษที่ตับ (ใบ)
26. สรรพคุณของคูน รากใช้แก้โรคคุดทะราด (ราก)
27. ใบ สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (ใบ)
28. ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ใบ)
29. รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน (ราก,ใบ)
30. เปลือกและใบ นำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้ (เปลือก,ใบ)
31. เปลือกสรรพคุณช่วยแก้ฝี แก้บวม หรือจะใช้เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทารักษาฝี (เปลือก,ใบ)
32. คูน สรรพคุณของดอกช่วยแก้บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลเรื้อรัง (ดอก)
33. เปลือกราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)
34. ฝักคูณ สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ (เนื้อในฝัก)
35. ชาวอินเดียใช้ใบนำมาโขลกแล้วนำมาพอกแล้วนวด ช่วยแก้โรคปวดข้อและอัมพาต (ใบ)
36. ช่วยกำจัดหนอนและแมลง โดยฝักแก่มีสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำมาฝักมาบดผสมกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้สารละลายที่กรองได้มาฉีดพ่นจะช่วยกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้ (ฝักแก่)
37. สารสกัดจากรากราชพฤกษ์ มีฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ Acetylcholinesterase
38. นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
·         น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมากจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
·         ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น และประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
·         ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
·         ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมองแก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ
ข้อควรระวัง! :การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มที่ได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้


การปลูก
           ในช่วงแรกๆต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตได้ช้าในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปีแรก หลังจากนั้นต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลเรียบ มีรากแก้วยาวสีเหลือง และ มีรากแขนงเป็นจำนวนมาก เมื่อต้นราพฤกษ์มีอายุ 4-5 ปี จึงออกดอกและเมล็ดและเจริญเติบโตต่อไป
ความเชื่อ
           ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพีธีที่สำคัญ เช่น พีธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ
คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วย นอกจากนี้มีความเชื่อว่า ใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดีดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม


วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

ยางพารา

                                                                          ประวัติยางพารา


ยางพาราเข้าสู่ประเทศไทย

           ต้นยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ชื่อว่า "สยาม" ประมาณกันว่าควรเป็นหลัง พ.ศ.2425 ซึ่งช่วงนั้น ได้มีการขยายเมล็ดกล้ายางพารา จากพันธุ์ 22 ต้น นำไปปลูกในประเทศต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย และมีหลักฐานเด่นชัดว่า เมื่อ ปี พ.ศ.2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้เหมือนหนึ่ง "บิดาแห่งยาง" เป็นผู้ที่ได้นำต้นยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก
          จากนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ได้ส่งคนไปเรียนวิธีปลูกยางเพื่อมาสอนประชาชน นักเรียนของท่านที่ส่งไปก็ล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นท่านก็สั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำพันธุ์ยางไปแจกจ่าย และส่งเสริมให้ราษฎรปลูกทั่วไป ซึ่งในยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตื่นยาง และชาวบ้านเรียกยางพารานี้ว่า “ยางเทศา” ต่อมาราษฎรได้นำเข้ามาปลูกเป็นสวนยางมากขึ้นและได้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางไปในจังหวัดภาคใต้รวม 14 จังหวัด ตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศประมาณ 12 ล้านไร่ กระจายกันอยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศได้เจริญรุดหน้าเรื่อยมาจนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางได้มากที่สุดในโลก
          ความคิดที่จะนำยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเดินทางไปดูงาน ในประเทศมลายู เห็นชาวมลายูปลูกยางกันมีผลดีมากก็เกิดความสนใจที่จะนำยางเข้ามาปลูกในประเทศไทยบ้าง แต่พันธุ์ยาง สมัยนั้น ฝรั่งซึ่งเป็นเจ้าของสวนยาง หวงมาก ทำให้ไม่สามารถนำพันธุ์ยางกลับมาได้ ในการเดินทางครั้งนั้น จนกระทั่ง พ.ศ. 2444 พระสถล สถานพิทักษ์ เดินทางไปที่ประเทศอินโดเซีย จึงมีโอกาสนำกล้ากลับมาได้ โดยเอากล้ายางมาหุ้มรากด้วยสำลีชุบนน้ำ แล้วหุ้มทับด้วยยกระดาษหนังสือพิมพ์อีกชั้นหนึ่งจึงบรรจุลงลังไม้ฉำฉา ใส่เรือกลไฟซึ่งเป็นเรือส่วนตัวของพระสถลฯ รีบเดินทางกลับประเทศไทยทันที
          ยางที่นำมาครั้งนี้มีจำนวน ถึง 4 ลัง ด้วยกันพระสถลสถานพิทักษ์ ได้นำมาปลูกไว้ที่บริเวณหน้าบ้านพัก ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งปัจจุบันนี้ยังเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานเพียงต้นเดียว อยู่บริเวณหน้าสหกรณ์การเกษตรกันตัง และจากยางรุ่นแรกนี้ พระสถลสถานพิทักษ์ ได้ขยายเนื้อที่ปลูกออกไป จนมีเนื้อที่ปลูกประมาณ 45 ไร่ นับได้ว่า พระสถลสถานพิทักษ์ คือผู้เป็นเจ้าของสวนยางคนแรกของประเทศไทย

จากอดีตสู่ปัจจุบัน
           ในปี 2451 หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) ได้นำยางไปปลูกที่จังหวัดจันทบุรี จึงได้มีการขยายการปลูกยางพาราในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีการปลูกกันทั่วไป ใน 3 จังหวัด ภาคตะวันออก คือ จันทบุรี ระยอง และตราด และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออก ต่อมาก็มีผู้พยายามที่จะนำพันธุ์ยางไปปลูกทั้งในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกับที่ปลูกของภาคใต้ และภาคตะวันออก
          ในช่วงปี 2475 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นที่คอหงส์ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้ก่อตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคใต้ ขึ้นที่ บ้านชะมวง ตำบลควนเนียง อำเภอกำแพงเพชร จังหวัดสงขลา และในปี 2476 ได้ย้ายสถานีดังกล่าวไปตั้งที่ตำบล คอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ พร้อมกับตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมขึ้นที่ตำบลคอหงส์ด้วย โดยหลวงสุวรรณฯ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก ต่อมาในปี 2496 หลวงสำรวจพฤกษาลัย (สมบูรณ์ ณ ถลาง) หัวหน้ากองการยางและนายรัตน์ เพชรจันทร ผู้ช่วยหัวหน้า กองการยางได้เสนอร่าง พรบ. ปลูกแทนต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตามต้องใช้เวลาถึง 6 รัฐบาล ในเวลา 6 ปี จึงออก พรบ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในปี 2503 และได้มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในปี 2504 กิจการปลูกแทนก้าวหน้าด้วยดี เป็นที่พอใจของชาวสวนยางในภาคใต้ หลวงสำรวจพฤกษาลัย (สมบูรณ์ ณ ถลาง) นายรัตน์ เพชรจันทร ผู้ริเริ่มการปลูกแทน ผู้ริเริ่มการปลูกแทนยางพาราที่ปลูกในสมัยแรกส่วนใหญ่เป็นยางพื้นเมืองที่ให้ผลผลิตต่ำ ทำให้ชาวสวนยาง มีรายได้น้อยโดยเฉพาะในช่วงที่ยางมีราคาตกต่ำ วิธีการแก้ไขคือ การปลูกแทน  ยางพื้นเมืองเหล่านั้นด้วยยางพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง ผู้ผลิตยางหลายประเทศได้เร่งการปลูกแทนยางเก่าด้วยยางพันธุดีเพื่อเพิ่มผลผลิตยาง เช่น มาเลเซียได้ออกกฎหมายสงเคราะห์ปลูกยางในปี 2495 และศรีลังกาได้ออกกฎหมายทำนองเดียวกันในปี 2496 ต่อมาได้รับความร่วมมือจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติให้จัดตั้งศูนย์วิจัยการยางขึ้นที่ตำบลคอหงส์ในปี 2508
          ในปี 2508 ดร.เสริมลาภ วสุวัต ผู้วางรากฐานการวิจัยและพัฒนายางการวิจัยและพัฒนายางเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมยางไทย โดยเปลี่ยน สถานะจากสถานีทดลองยางคอหงส์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการวิจัย และพัฒนายางของไทยคือ ดร.เสริมลาภ วสุวัต ผู้อำนวยการกองกองการยาง ซึ่งเป็นผู้ควบคุมและดูแลศูนย์วิจัยการยางที่ตั้งขึ้นใหม่ศูนย์วิจัยการยางได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และมีผู้เชี่ยวชาญยางพาราสาขาต่างๆ มาช่วยวางรากฐานการวิจัย และพัฒนาร่วมกับนักวิจัยของไทยในระยะเริ่มแรก มีการวิจัยยางด้านต่างๆ เช่น ด้านพันธุ์ยาง โรคและศัตรูยางด้านดินและปุ๋ย การดูแลรักษาสวนยางการกำจัดวัชพืช การปลูกพืชคลุม การปลูกพืชแซมเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ชาวสวนยาง ด้านอุตสาหกรรมยางและเศรษฐกิจยางและมีการพัฒนายางโดยเน้นการพัฒนาสวนยางขนาดเล็ก เช่น การ กรีดยางหน้าสูง การใช้ยาเร่งน้ำยาง การส่งเสริมการแปลงเพาะและขยายพันธุ์ยางของภาคเอกชน การรวมกลุ่มขายยางและการปรับปรุงคุณภาพยางและการใช้ประโยชน์ไม้ยางพารา มีการออกวารสารยางพาราเพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่ชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดหลักสูตรการฝึกอบรมและการจัดสัมมนายางเพื่อถ่าย 
ทอดความรู้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
          และจนกระทั่ง ในปี 2521 กรมวิชาการเกษตร และกรมประชาสงเคราะห์ได้เริ่มงานทดลองปลูกสร้างสวนยางพาราตามหลักวิชาการปลูกสร้างสวนยางแผนใหม่ในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทดลองปลูกในจังหวัดหนองคาย บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ผลผลิตยางในขณะนั้นเริ่มเปิดกรีดได้แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่แตกต่างจากผลผลิตในภาคใต้ และภาคตะวันออกนัก ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการวิจัยและพัฒนาการปลูกยางในเขตแห้งแล้ง และถือเป็นการเริ่มขยายเขตปลูกยางพาราสู่เขต ใหม่ของประเทศไทยอย่างจริงจัง
          นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับองค์กรยางระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนายางอย่างกว้างขวางในระยะต่อมาศูนย์วิจัยการยางได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์วิจัยยางสงขลาในปี 2527 และมีการก่อตั้งศูนย์วิจัยขึ้นใหม่อีก 3 ศูนย์ ที่สุราษฎร์ธานี ฉะเชิงเทรา หนองคาย และ นราธิวาสเพื่อขยายงานวิจัย และพัฒนายางให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกยางของประเทศ การวิจัยและพัฒนายางเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญทำให้การปลูกแทนในพื้นที่ปลูกยางเดิมและการปลูกใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบความสำเร็จมากขึ้น

พันธุ์ยางพารา
               พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251
รูปทรงฉัตรเป็นครึ่งวงกลม ฉัตรเปิด ระยะระหว่างฉัตรห่าง ใบสีเขียวเป็นมัน ป้อมปลายใบ ใบตัดตามขวางเว้าเป็นรูปท้องเรือ ขอบใบหยักเป็นลอนคลื่น ก้านใบยาวทำมุมตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ฐานก้านใบชั้นเดียว ลักษณะพิเศษคือกิ่งกระโดงคดและขอบใบเป็นลอนคลื่น
               พันธุ์ RRIM 600
รูปทรงฉัตรเป็นรูปกรวยขนาดเล็ก ฉัตรเปิด ใบสีเขียวอมเหลือง แผ่นใบเรียบ นิ่มลื่น ผิวใบมัน ขอบใบเรียบ ป้อมปลายใบ ปลายใบมีติ่งแหลมคล้ายใบโพธิ์ ก้านใบทำมุมยกขึ้น และใบทั้ง 3 ใบ อยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะพิเศษคือ ฐานก้านใบเป็นร่อง ตาอยู่ในฐานก้านใบ ฐานใบสอบเรียว
               พันธุ์ BPM 24
รูปทรงฉัตรครึ่งวงกลม ฉัตรเปิด ใบสีเขียวไม่เป็นมัน ป้อมกลางใบ ฐานใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ก้านใบทำมุมเกือบตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ก้านใบย่อยยาวทำมุมกว้างอยู่ในแนวเดียวกัน ลักษณะพิเศษคือ ใบกลางใหญ่กว่าใบทั้งสองข้าง และ ใบกลางมักยาวกว่าก้านใบ
               พันธุ์ PB 235
รูปทรงฉัตรคล้ายรูปพีระมิด ฉัตรเปิด ใบสีเขียวไม่เป็นมัน ใบกลางป้อมกลางใบคล้ายรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ฐานใบรูปลิ่ม มีเส้นกลางใบสีเหลืองชัดเจน ก้านใบตั้งฉากกับกิ่งกระโดง ลักษณะพิเศษคือ บางฉัตรมักพบใบย่อย 4 ใบ เส้นกลางใบสีเหลืองชัดเจน ฉัตรที่ใบเพสลาดจะพบฐานก้านใบสีม่วง
แน้วโน้มตลาดยางพารา
สถานการณ์และแนวโน้มยางพาราไทยในตลาดโลก
(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
        โดย..ธีรวุฒิ อ่อนดำ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
        
สถานการณ์และแนวโน้มยางพาราไทยในตลาดโลก
ราคาท้องถิ่น (ยางแผ่นดิบ) ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่
       
       *** สถานการณ์ผลิต ความต้องการใช้ และสต๊อกของไทย
     
       จากข้อมูลสถิติของสถาบันวิจัยยาง ประกอบกับการประมาณการเปรียบเทียบข้อมูลไตรมาส 3/2014 พบว่า สถานการณ์ผลิต การส่งออก และสต๊อกยางธรรมชาติของไทย มีจำนวน 831, 767 และ 1,396 พันตัน เพิ่มขึ้น 27.7%, 16.9% และ 10.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศมีจำนวน 136 พันตัน (คิดเป็น 16.5% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในประเทศ) ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด โดยมีประเทศส่งออกที่สำคัญคือ จีน รองลงมาคือ มาเลเซีย และญี่ปุ่น จำนวน 356 94 และ 47 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 50.7%, 13.4% และ 6.8% เมื่อเทียบกับปริมาณการส่งออกทั้งหมด
     
       ***สถานการณ์ราคาภายในประเทศ
     
       จากข้อมูลสถิติ ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคายางพาราปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาเฉลี่ยรายเดือน ยางแผ่นดิบชั้น 3 และน้ำยางสด ณ โรงงาน (ราคาท้องถิ่น) อยู่ที่ 46.7 และ 46.2 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 (ราคาประมูล) อยู่ที่ 51.0 บาท/กก. ลดลง 32.4%, 23.9% และ 26.8% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคม ต้นปีที่ผ่านมา และลดลง 74.3%, 72.5% และ 73.1% เมื่อเทียบกับราคาสูงสุด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554
     
       ***แนวโน้มผลผลิต ความต้องการใช้โดยรวมของโลก
     
       สำหรับแนวโน้มผลผลิตยางธรรมชาติโดยรวมของโลกไตรมาสที่ 4/2014 ประกอบกับการประมาณการโดยใช้ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่เพียงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และหลายประเทศในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ เช่น ไนจีเรีย ไลบีเรีย แคมเมอรูน บราซิล และกัวเตมาลา ต่างหันมาปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น ขณะที่บทบาทของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เริ่มมีมากขึ้น อันเป็นผลจากนโยบายของจีนที่ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งใน และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงต่อการจัดหายางพาราให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ
     
       ด้านแนวโน้มความต้องการใช้ยางธรรมชาติ ไตรมาสที่ 4 ปี 2014 คาดว่าปริมาณความต้องการใช้โดยรวมของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง และความกังวลในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่สะท้อนผ่านการปรับลด GDP โลก ปี 2014 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.4% และปรับลด GDP ปี 2015 ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0% ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลด GDP ของ EU ลงเหลือ 0.8% จากเดิม 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่หดตัว ส่วนธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงเหลือ 7.4% ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558
     
       แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของโลกเริ่มชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจอเมริกาเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่านการปรับลดวงเงิน QE ต่อเดือนลง และน่าจะสิ้นสุดโครงการในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของอเมริกา ปี 2014 เป็น 2.2% จากเดิม 1.6% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อเมริกาถือเป็นประเภทผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นสุดท้ายที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะยางล้อ และผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยาง) ผ่านการนำเข้าสินค้าจากจีน ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มแผ่วลง แต่ภาพรวมความต้องการยางพาราจากจีนเชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
     
       ***แนวโน้มผลผลิต ความต้องการใช้โดยรวมของไทย
     
       สำหรับแนวโน้มผลผลิตของไทย แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ (คิดเป็นร้อยละ 62 เทียบกับพื้นที่กรีดยางพาราทั้งหมดของประเทศ) เผชิญกับช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงส่งผลต่อการกรีดยางพาราในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 4 พื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก (คิดเป็นร้อยละ 72.8 เทียบกับพื้นที่กรีดยางพาราทั้งหมดในภาคใต้) เข้าสู่ช่วงมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าผลกระทบหนักสุดจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ ดังนั้น ในภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งหมดของไทยยังถูกจำกัดด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก
     
       ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ ในระยะสั้นอาจได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลผ่านการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่องค์กรสถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนในการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ในระยะยาวผลผลิตที่ได้อาจถูกจำกัดเพียงในประเทศเท่านั้น หากไม่มีมาตรการอื่นตามมาที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพสินค้า และการจัดหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย ปี 2014 เหลือ 1.5% จากเดิม 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2014 เหลือ 1.2% เช่นกัน
     
       ***แนวโน้มการส่งออกของไทย และราคาในประเทศ
     
       สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาสที่ 4/2014 คาดว่าปริมาณการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ขณะที่บทบาทของไทย ในการเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก อาจลดความสำคัญลงจากการที่หลายประเทศหันไปปลูกยางพารา และเริ่มเก็บผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อปริมาณการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนผลผลิตของไทยลดลงเหลือเพียง 25.6% ของปริมาณผลผลิตโลก (จากเดิม ไตรมาส 4/2013 เท่ากับ 38.72%) นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงย่อมส่งผลต่อปริมาณการส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทที่ถือว่ายังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย
     
       สำหรับแนวโน้มราคายางในประเทศ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกรอบจำกัด โดยมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงต้นไตรมาส ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากปริมาณผลผลิตโดยรวมที่ลดลง ด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก และอาจทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 ปีกว่า ต่ำกว่าระดับ 43.2/40.0 บาท/กก. (ยางแผ่นดิบ @ราคาท้องถิ่น) ในครึ่งหลังไตรมาส 4 ช่วงเดือนธันวาคม จากปริมาณผลผลิตที่กลับมาออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยกดดัน และสนับสนุนที่สำคัญคือ
     
       *** ปัจจัยบวก
     
       การแพร่ระบาดของโรคไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตก และความกังวลว่าการแพร่ระบาดอาจจะลุกลามไปยังทวีปอื่น ส่งผลให้ดีมานด์ถุงมือยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
     
       International Rubber Study Group (IRSG) ปรับลดคาดการณ์ปริมาณผลผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมยางพารา ลงเหลือ 0.2 ล้านตัน จากเดิมที่คาดว่าว่าใน 2015 จะมีปริมาณผลผลิตส่วนเกินจากปี 2014 จำนวน 0.3 ล้านตัน
     
       ***ปัจจัยลบ
       บทบาทของไทย ในการเป็นผู้ผลิตหลักในตลาดโลก อาจลดความสำคัญลง
     
       ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติที่จะออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปลายมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนธันวาคม ส่งผลกดดันราคายางพาราโดยรวมภายในประเทศ
     
       ปริมาณสต๊อกยางสังเคราะห์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อราคายางสังเคราะห์ และกดดันราคายางพาราเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปริมาณสต๊อกยางธรรมชาติของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจแตะระดับ 3.2 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4 ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคายางเพิ่มมากขึ้น
     
       กองทุนการเงินระหว่งประเทศ (IMF) ปรับลด GDP โลก ปี 2014 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.4% และปรับลด GDP ปี 2015 ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0%
     
       องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลด GDP ของ EU ลงเหลือ 0.8% จากเดิม 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่หดตัว
     
       ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงเหลือ 7.4% ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558 และปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย ปี 2014 ลงเหลือ 1.5% จากเดิม 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัวช้า
     
       ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2014 เหลือ 1.2%
     
       แนวโน้มผลผลิตยางธรรมชาติโดยรวมของโลกไตรมาสที่ 4/2014 ประกอบกับการประมาณการโดยใช้ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางธรรมชาติ คาดว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง และความกังวลในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจโลก ที่สะท้อนผ่านการปรับลด GDP โลก ปี 2014 ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.4% และปรับลด GDP ปี 2015 ลงเหลือ 3.8% จากเดิม 4.0% ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปรับลด GDP ของ EU ลงเหลือ 0.8% จากเดิม 1.2% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และอุปสงค์ที่หดตัว ส่วนธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนลงเหลือ 7.4% ในปี 2557 และ 7.2% ในปี 2558
     
       ส่วนแนวโน้มผลผลิตของไทย ในภาพรวมคาดว่าปริมาณผลผลิตทั้งหมดของไทยยังถูกจำกัดด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ ในระยะสั้นอาจได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาลผ่านการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่องค์กร สถาบันเกษตรกร ตลอดจนภาคเอกชนในการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แต่ในระยะยาวผลผลิตที่ได้อาจถูกจำกัดเพียงในประเทศเท่านั้น หากไม่มีมาตรการอื่นตามมาที่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่งเสริมมาตรฐานคุณภาพสินค้า และการจัดหาตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทย ปี 2014 เหลือ 1.5% จากเดิม 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในอาเซียน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ส่วนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้ปรับลดประมาณการ GDP ไทย ปี 2014 เหลือ 1.2% เช่นกัน
     
       สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาสที่ 4/2014 คาดว่าปริมาณการส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด ขณะที่บทบาทของไทยในการเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก อาจลดความสำคัญลงจากการที่หลายประเทศหันไปปลูกยางพารา และเริ่มเก็บผลผลิตได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง ส่งผลกดดันต่อทิศทางการส่งออกของไทยเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทที่ถือว่ายังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนการส่งออกของไทย
     
       ส่วนแนวโน้มราคายางในประเทศ คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวขึ้นลงอยู่ในกรอบจำกัด โดยมีแนวโน้มขยับขึ้นในช่วงต้นไตรมาส ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากปริมาณผลผลิตโดยรวมที่ลดลง ด้วยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในฝั่งจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก และอาจทำสถิติต่ำสุดใหม่ในรอบ 5 ปีกว่า ต่ำกว่าระดับ 43.2/40.0 บาท/กก. (ยางแผ่นดิบ @ราคาท้องถิ่น) ในครึ่งหลังไตรมาส 4 ช่วงเดือนธันวาคม จากปริมาณผลผลิตที่กลับมาออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยลบทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ และแนวโน้มผลผลิตโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณสต๊อกยางธรรมชาติของโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจแตะระดับ 3.2 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4 ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันราคายางเพิ่มมากขึ้น
     
       ***สถานการณ์ผลิต ความต้องการใช้ และสต๊อกของโลก
     
       จากข้อมูลสถิติของ International Rubber Study Group (IRSG) ประกอบกับการประมาณการ เปรียบเทียบข้อมูลไตรมาส 3/2014 พบว่า ปริมาณผลผลิต ความต้องการใช้ และสต๊อกยางธรรมชาติของโลกมีจำนวน 3,242, 2,983 และ 2,985 พันตัน เพิ่มขึ้น 17.9%, 1.3% และ 9.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด และเพิ่มขึ้น 0.9%, 2.5% และ 23.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
     
       ขณะที่ปริมาณผลผลิต และสต๊อกยางสังเคราะห์ของโลกมีจำนวน 3,951 และ 4,224 พันตัน เพิ่มขึ้น 1.3% และ 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด และเพิ่มขึ้น 2.8% และ 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยที่ปริมาณความต้องการใช้ยางสังเคราะห์ของโลกมีจำนวน 3,935 พันตัน ลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสล่าสุด และเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า