วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

ต้นราชพฤกษ์


ราชพฤกษ์


           ราชพฤกษ์ หรือ คูน (อังกฤษGolden showerชื่อวิทยาศาสตร์Cassia fistula) เป็นไม้ดอกในตระกูล Fabaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียใต้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของปากีสถาน ไปจนถึงอินเดีย พม่า และศรีลังกา ดอกราชพฤกษ์เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย นิยมปลูกเป็นไม้ประดับในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อน เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในที่โล่งแจ้ง สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทนในอากาศหนาวจัด ซึ่งอาจติดเชื้อราหรือโรคใบจุดได้
           เหตุผลเลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย

           1. เนื่องจากเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย

           2. มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ ๆ ในไทยและเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมปลูก

           3. ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยารักษาโรค อีกทั้งยังใช้ลำต้นเป็นเสาเรือนได้ เป็นต้น

           4. มีสีเหลืองอร่าม พุ่มงามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา

           5. มีอายุยืนนาน และทนทาน
ลักษณะ
           ราชพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10-20 เมตร ดอกขึ้นเป็นช่อยาว 20-40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ผลยาว 30-62 เซนติเมตร และกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมา
           
·         ใบราชพฤกษ์ (ใบคูน) ลักษณะของใบออกเป็นช่อ ใบสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร และมีใบย่อยเป็นไข่หรือรูปป้อม ๆ ประมาณ 3-6 คู่ ใบย่อยมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร โคนใบมนและสอบไปทางปลายใบ เนื้อใบบางเกลี้ยง มีเส้นแขนงใบถี่ และโค้งไปตามรูปใบ

                        

·         ดอกราชพฤกษ์ (ดอกคูน) ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนานมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย และกลีบดอกยาวกว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่จำนวน 5 กลีบ บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ ขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 อัน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

                                

·         ผลราชพฤกษ์ หรือ ฝักราชพฤกษ์ (ฝักคูณ) ผลมีลักษะเป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยง ๆ ฝักยาวประมาณ 20-60 เซนติเมตร และวัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ราว 2-2.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนจะมีสีเขียว ส่วนฝักแก่จัดจะมีสีดำ ในฝักจะมีผนังเยื่อบาง ๆ กันอยู่เป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และในช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลแบน ๆ อยู่ มีขนาดประมาณ 0.8-0.9 เซนติเมตร

 

สรรพคุณของราชพฤกษ์

1.    ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
2.    สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น,ใบ)
3.    สารสกัดจากเมล็ด มีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
4.    ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
5.    ราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
6.    ราชพฤกษ์ สรรพคุณทางยาฝักช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
7.    ช่วยแก้ไข้รูมาติก ด้วยการใช้ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
8.    ฝักอ่อน มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน)
9.    ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ฝัก)
10. เปลือกเมล็ดและเปลือกฝัก มีสรรพคุณช่วยถอนพิษทำให้อาเจียน หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 5-6 เมล็ด นำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานก็ได้ (เมล็ด,ฝัก)
11. ต้นราชพฤกษ์ สรรพคุณของกระพี้ใช้แก้อาการปวดฟัน (กระพี้)
12. ในอินเดียมีการใช้ฝัก เปลือก ราก ดอก และใบมาทำเป็นยา ใช้เป็นยาแก้ไข้และหัวใจ แก้อาการหายใจขัด ช่วยถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แก้อาการซึมเศร้า หนักศีรษะ หนักตัว ทำให้ชุ่มชื่นทรวงอก (เปลือก,ราก,ดอก,ใบ,ฝัก)
13. สรรพคุณ ราชพฤกษ์ช่วยแก้โรครำมะนาด (กระพี้,แก่น)
14. ช่วยรักษาเด็กเป็นตานขโมย ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ฝัก)
15. ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก (เนื้อในฝัก)
16. ฝักแก่ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวกไม่มวนท้อง แก้อาการท้องผูก เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ และสตรีมีครรภ์ เพราะมีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวช่วยระบาย สำหรับวิธีการใช้ ให้ใช้ฝักแก่ขนาดก้อนเท่าหัวแม่มือ (หนักประมาณ 4 กรัม) และน้ำอีก 1 ถ้วยแก้วใส่หม้อต้ม แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้ดื่มก่อนอาหารเช้าหรือช่วงก่อนนอนเพียงครั้งเดียว (ฝักแก่,ดอก,เนื้อในฝัก,ราก,เมล็ด)
17. เมล็ด รสฝาดเมา สรรพคุณช่วยแก้ท้องร่วง (เมล็ด)
18. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร และแผลเรื้อรัง (ดอก)
19. ช่วยรักษาโรคบิด (เมล็ด)
20. สรรพคุณของราชพฤกษ์ ฝักช่วยแก้อาการจุกเสียด (ฝัก)
21. ช่วยทำให้เกิดลมเบ่ง ด้วยการใช้เมล็ดฝนกับหญ้าฝรั่น น้ำดอกไม้เทศ และน้ำตาล แล้วนำมากิน (เมล็ด)
22. ฝักและใบ สรรพคุณช่วยขับพยาธิ ด้วยการใช้ฝักแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ,ฝัก,เนื้อในฝัก)
23. ต้นคูณ สรรพคุณช่วยขับพยาธิไส้เดือนในท้อง (แก่น)
24. เปลือกฝักมีรสเฝื่อนเมา ช่วยขับรกที่ค้าง ทำให้แท้งลูก (เปลือกฝัก)
25. สารสกัดจากใบคูน มีฤทธิ์ช่วยต้านการเกิดพิษที่ตับ (ใบ)
26. สรรพคุณของคูน รากใช้แก้โรคคุดทะราด (ราก)
27. ใบ สามารถนำมาใช้ในการฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคบนผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ (ใบ)
28. ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง (ใบ)
29. รากนำมาฝนใช้ทารักษากลากเกลื้อน และใบอ่อนก็ใช้แก้กลากได้เช่นกัน (ราก,ใบ)
30. เปลือกและใบ นำมาบดผสมกันใช้ทาแก้เม็ดผดผื่นตามร่างกายได้ (เปลือก,ใบ)
31. เปลือกสรรพคุณช่วยแก้ฝี แก้บวม หรือจะใช้เปลือกและใบนำมาบดผสมกันใช้ทารักษาฝี (เปลือก,ใบ)
32. คูน สรรพคุณของดอกช่วยแก้บาดแผลเรื้อรัง รักษาแผลเรื้อรัง (ดอก)
33. เปลือกราชพฤกษ์ สรรพคุณช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)
34. ฝักคูณ สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดข้อ (เนื้อในฝัก)
35. ชาวอินเดียใช้ใบนำมาโขลกแล้วนำมาพอกแล้วนวด ช่วยแก้โรคปวดข้อและอัมพาต (ใบ)
36. ช่วยกำจัดหนอนและแมลง โดยฝักแก่มีสารออกฤทธิ์ที่ส่งผลต่อระบบประสาทของแมลง เมื่อนำมาฝักมาบดผสมกับน้ำทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วใช้สารละลายที่กรองได้มาฉีดพ่นจะช่วยกำจัดแมลงและหนอนในแปลงผักได้ (ฝักแก่)
37. สารสกัดจากรากราชพฤกษ์ มีฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ Acetylcholinesterase
38. นอกจากนี้ยังมีการนำสมุนไพรราชพฤกษ์มาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย เช่น
·         น้ำมันนวดราชพฤกษ์ ที่เคี่ยวมากจากน้ำมันจากใบคูน เป็นน้ำมันนวดสูตรร้อนหรือสูตรเย็น ที่ใช้นวดแก้อัมพฤกษ์อัมพาต และแก้ปัญหาเรื่องเส้น
·         ลูกประคบราชตารู เป็นลูกประคบสูตรโบราณ ที่ใช้ใบคูนเป็นตัวยาตั้งต้น และประกอบไปด้วย ขมิ้นอ้อย เทียนดำ กระวาน และอบเชยเทศ โดยลูกประคบสูตรนี้จะใช้ปรุงตามอาการ โดยจะดูตามโรคและความต้องการเป็นหลัก ซึ่งแต่ละคนจะได้ไม่เหมือนกัน
·         ผงพอกคูนคาดข้อ ทำจากใบคูนที่นำมาบดเป็นผง ช่วยแก้อาการปวดเส้น อัมพฤกษ์อัมพาต โดยนำมาพอกบริเวณที่เป็นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด บรรเทาอาการปวดข้อ รักษาโรคเกาต์ และยังช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย ซึ่งสูตรนี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่อัมพาตใบหน้าครึ่งซีก ตาไม่หลับ มุมปากตกได้ด้วย
·         ชาสุวรรณาคา ทำจากใบคูน สรรพคุณช่วยในด้านสมองแก้ปัญหาเส้นเลือดตีบในสมอง ช่วยให้ระบบไหลเวียนในร่างกายดีขึ้น ช่วยแก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยเป็นตัวยาที่มีไว้ชงดื่มควบคู่ไปกับการรักษาแบบอื่น ๆ
ข้อควรระวัง! :การทำเป็นยาต้ม ควรต้มให้พอประมาณจึงจะได้ผลดี หากต้มนานเกินไปหรือเกินกว่า 8 ชั่วโมง ยาจะไม่มีฤทธิ์ระบาย แต่จะทำให้ท้องผูกแทน และควรเลือกใช้ฝักที่ไม่มากจนเกินไป และยาต้มที่ได้หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อาเจียนได้


การปลูก
           ในช่วงแรกๆต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตได้ช้าในระยะเวลาประมาณ 1-3 ปีแรก หลังจากนั้นต้นราชพฤกษ์จะเจริญเติบโตเร็วขึ้น เปลือกจะเป็นสีน้ำตาลเรียบ มีรากแก้วยาวสีเหลือง และ มีรากแขนงเป็นจำนวนมาก เมื่อต้นราพฤกษ์มีอายุ 4-5 ปี จึงออกดอกและเมล็ดและเจริญเติบโตต่อไป
ความเชื่อ
           ต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้มงคลนิยมใช้ประกอบพีธีที่สำคัญ เช่น พีธีเสาไม้หลักเมือง เป็นส่วนประกอบในการทำคฑาจอมพล และ ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ทำพิธีปลูกบ้าน ฯลฯ
คนไทยในสมัยโบราณเชื่อว่า ควรปลูกต้นราชพฤกษ์ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านเรือนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นทวีคูณ ซึ่งความเป็นจริงคือทิศดังกล่าวจะได้รับแดดจัดตลอดช่วงบ่าย จึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ลดความร้อนและทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
คนไทยในสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้ประจำบ้านจะช่วยให้มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยอมรับว่าต้นราชพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่าสูงและยังเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทยอีกด้วย นอกจากนี้มีความเชื่อว่า ใบของต้นราชพฤกษ์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีทางไสยศาสตร์ให้ใบทำน้ำพุทธมนต์สะเดาะเคราะห์ได้ผลดีดังนั้นจึงถือว่าต้นราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลนาม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น